เรียบเรียงโดย อุไรวรรรณ ศรีธิวงค์
ทฤษฎีการเรียนรู้ของกลุ่มเกสตัลท์ เป็นทฤษฏีหนึ่งในกลุ่มพุทธินิยม (Cognitive Learning Theories) กลุ่มเกสตัลท์ เกิดจากนักจิตวิทยาชาวเยอรมัน โดยมีผู้นำกลุ่มคือแมกซ์ เวอร์ไธเมอร์ (Max Wertheimer) และลูกศิษย์ 2 คนได้แก่ วู้ลฟ์แกงค์ โคห์เลอร์ (Wolfgang Kohler) เคิร์ท คอฟฟ์กา (Kurt Koffka) และเคิร์ท เลวิน (Kurt Lawin) นักจิตวิทยากลุ่มนี้มีแนวความคิดว่าการเรียนรู้เกิดจากการจัดประสบการณ์ทั้งหลายที่อยู่กระจัดกระจายให้มารวมกันก่อน แล้วจึงพิจารณาส่วนย่อยต่อไป คำว่า เกสตัลท์ หมายถึงแบบแผนหรือภาพรวม โดยนักจิตวิทยากลุ่มนี้ได้ให้ความสำคัญกับส่วนรวมหรือผลรวมมากกว่าส่วนย่อย ในการศึกษาวิจัย เขาได้พบว่าการรับรู้ข้อมูลของคนเรามักจะรับรู้ส่วนรวมมากกว่ารายละเอียดปลีกย่อยก่อน ในการเรียนรู้และการแก้ปัญหาก็เช่นกัน คนเราจะเรียนอะไรได้นั้นต้องศึกษาภาพรวมก่อน หลังจากนั้นจึงมาพิจารณารายละเอียดปลีกย่อยจะทำให้เกิดความเข้าใจในเรื่องนั้นได้ชัดเจนขึ้น (ทิศนา แขมมณี, 2551)
จากการศึกษาของนักจิตวิทยากลุ่มเกสตัลท์ที่เน้นการเรียนรู้แบบการหยั่งรู้ สรุปว่าปกติแล้วคนเราจะมีวิธีการเรียนรู้และการแก้ปัญหาโดยอาศัยความคิดและประสบการณ์เดิมมากกว่าการลองผิดลองถูกเมื่อสามารถแก้ปัญหาในลักษณะนั้นได้แล้ว หากต้องเผชิญกับปัญหาที่คล้ายคลึงกันก็จะสามารถแก้ปัญหาได้ทันที ลักษณะดังกล่าวนี้เกิดขึ้นได้ เพราะมนุษย์สามารถจัดแบบ (Pattern) ของความคิดใหม่เพื่อใช้ในการแก้ปัญหาที่ตนเผชิญอยู่ได้อย่างเหมาะสม (Digital Library of King Mongkut's University of Technology Thonburi, 2545) ปัจจุบันได้มีผู้นำเอาวิธีการเรียนรู้ของกลุ่มเกสตัลท์มาใช้อย่างกว้างขวาง ด้วยเหตุที่พวกเขาเชื่อในผลการศึกษาค้นคว้าที่พบว่าถ้าให้ผู้เรียนได้เรียนรู้โดยหลักของเกสตัลท์แล้ว เขาเหล่านั้นจะมีสติปัญญาและความคิดสร้างสรรค์และความรวดเร็วในการเรียนรู้เพิ่มขึ้น
1. หลักการเรียนรู้ของกลุ่มเกสตัลท์
Digital Library of King Mongkut's University of Technology Thonburi (2545) และทิศนา แขมมณี (2551) ได้กล่าวถึงการเรียนรู้ตามหลักการของกลุ่มเกสตัลท์ไว้ดังนี้
1.1 การเรียนรู้เป็นกระบวนการทางความคิดซึ่งเป็นกระบวนการภายในตัวของมนุษย์
1.2 บุคคลจะเรียนรู้จากสิ่งเร้าที่เป็นส่วนรวมได้ดีกว่าส่วนย่อย
1.3 การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ 2 ลักษณะ คือ
1.3.1 การรับรู้ (Perception) การรับรู้เป็นกระบวนการที่บุคคลใช้ประสาทสัมผัสรับสิ่งเร้าแล้วถ่ายโยงเข้าสู่สมองเพื่อผ่านเข้าสู่กระบวนการคิด สมองหรือจิตจะใช้ประสบการณ์เดิมตีความหมายของสิ่งเร้าและแสดงปฏิกิริยาตอบสนองออกไปตามที่สมองและจิตตีความหมาย
1.3.1.1 กฎการจัดระเบียบการรับรู้ (Perception) เป็นการแปลความหมายจากการสัมผัสด้วยอวัยวะสัมผัสทั้ง 5 ส่วน คือ หู ตา จมูก ลิ้น และผิวหนัง การรับรู้ทางสายตาจะประมาณร้อยละ 75 ของการรับรู้ทั้งหมด ดังนั้น กลุ่มทฤษฎีเกสตัลท์จึงจัดระเบียบการรับรู้โดยการแบ่ง เป็นกฎ 7 ข้อ ดังนี้
1) กฎการรับรู้ส่วนรวมและส่วนย่อย (Law of Pragnanz) ประสบการณ์เดิมมีอิทธิพลต่อการรับรู้ของบุคคล การรับรู้ของบุคคลต่อสิ่งเร้าเดียวกันอาจแตกต่างกันได้ เพราะการใช้ประสบการณ์เดิมมารับรู้ส่วนรวมและส่วนย่อยต่างกัน
2) กฎแห่งความคล้ายคลึง (Law of Similarity) สิ่งเร้าใดที่มีลักษณะเหมือนกัน หรือคล้ายคลึงกัน บุคคลมักรับรู้เป็นพวกเดียวกัน
3) กฎแห่งความใกล้เคียง/ใกล้ชิด (Law of Proximity) สิ่งเร้าที่มีความใกล้เคียงกัน บุคคลมักรับรู้เป็นพวกเดียวกัน และถ้าทุกสิ่งทุกอย่างเท่ากัน สิ่งที่อยู่ใกล้ชิดกันจะถูกรับรู้ด้วยกัน
4) กฎแห่งความสมบูรณ์ (Law of Closure) แม้สิ่งเร้าที่บุคคลรับรู้จะยังไม่สมบูรณ์ แต่บุคคลสามารถรับรู้ในลักษณะสมบูรณ์ได้ ถ้าบุคคลมีประสบการณ์เดิมในสิ่งเร้านั้น
5) กฎแห่งความต่อเนื่อง สิ่งเร้าที่มีความต่อเนื่องกัน หรือมีทิศทางไปในแนวเดียวกัน บุคคลมักรับรู้เป็นพวกเดียวกัน หรือเรื่องเดียวกัน หรือเป็นเหตุเป็นผลกัน
6) บุคคลมักมีความคงที่ในความหมายของสิ่งที่รับรู้ตามความเป็นจริง กล่าวคือ เมื่อบุคคลรับรู้สิ่งเร้าในภาพรวมแล้วจะมีความคงที่ในการรับรู้สิ่งนั้นในลักษณะเป็นภาพรวมดังกล่าว ถึงแม้ว่าสิ่งเร้านั้นจะได้เปลี่ยนแปรไปเมื่อรับรู้ในแง่มุมอื่น เช่น เมื่อเห็นปากขวดกลมเรามักจะเห็นว่ามันกลมเสมอ ถึงแม้ว่าในการมองบางมุม ภาพที่เห็นจะเป็นรูปวงรีก็ตาม
7) การรับรู้ของบุคคลอาจผิดพลาด บิดเบือน ไปจากความเป็นจริงได้ เนื่องมาจากลักษณะของการจัดกลุ่มสิ่งเร้าที่ทำให้เกิดการลวงตา เช่น เส้นตรงในภาพ ก. ดูสั้นกว่าเส้นตรงในภาพ ข. ทั้ง ๆ ที่ยาวเท่ากัน
เส้น ก.
เส้น ข.
1.3.2 การหยั่งเห็น (Insight) เป็นการค้นพบหรือการเกิดความเข้าใจในช่องทางแก้ปัญหาอย่างฉับพลันทันที อันเนื่องจากผลการพิจารณาปัญหาโดยส่วนรวม และการใช้กระบวนการทางความคิดและสติปัญญาของบุคคลนั้น ในการศึกษาการเรียนรู้แบบหยั่งเห็นของโคห์เลอร์ (Wolfgang Kohler) โดยได้ทำการทดลองขังลิงชิมแพนซีที่ชื่อ “สุลต่าน”ไว้ในกรงพร้อมท่อนไม้ขนาดสั้นยาวต่าง ๆ กัน นอกกรงได้แขวนกล้วยไว้หนึ่งหวีซึ่งไกลเกินกว่าที่ลิงจะเอื้อมหยิบได้ ซึ่งลิงได้ใช้วิธีการต่าง ๆ เพื่อให้ได้กินกล้วย เช่น เอื้อมมือหยิบ ส่งเสียงร้อง เขย่ากรง ปีนป่าย จนกระทั่งการหยิบไม้มาเล่น ในที่สุดลิงก็สามารถใช้ไม้สอยกล้วยมากินได้ สรุปได้ว่า ลิงมีการเรียนรู้แบบหยั่งเห็น เป็นการค้นพบหรือเกิดความเข้าใจในช่องทางแก้ปัญหาอย่างฉับพลันทันที เนื่องมาจากผลการพิจารณาปัญหาโดยส่วนรวมและการใช้กระบวนการทางความคิดและสติปัญญาของบุคคลนั้นในการเชื่อมโยงประสบการณ์เดิมกับปัญหาหรือสถานการณ์ที่เผชิญ ดังนั้นปัจจัยสำคัญของการเรียนรู้แบบหยั่งเห็นก็คือประสบการณ์ หากมีประสบการณ์สะสมไว้มาก การเรียนรู้แบบหยั่งเห็นก็จะเกิดขั้นได้มากเช่นกัน
ดังนั้นสรุปได้ว่าการให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ภาพรวมก่อนส่วนปลีกย่อยจะทำให้ผู้เรียนเข้าใจสิ่งนั้น ๆ ได้ดีกว่า ตามกฎการรับรู้ส่วนรวมและส่วนย่อย และการเรียนรู้แบบหยั่งรู้โดยอาศัยประสบการณ์เดิมที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับประสบการณ์ใหม่ จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้หรือแก้ปัญหาได้ดียิ่งขึ้น ตามกฎแห่งความคล้ายคลึง และหากให้ผู้เรียนได้เรียนรู้และมีประสบการณ์ในทิศทางเดียวกันอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ผู้เรียนรับรู้เป็นสิ่งเดียวกันตามกฎของความต่อเนื่อง หากมีการสั่งสมประสบการณ์ เกี่ยวกับสิ่งใดมาก ๆ ก็จะทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้แบบหยั่งเห็นมากเช่นกัน จากแนว ความคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ของทฤษฏีนี้ กล่าวได้ว่าการเรียนรู้เป็นกระบวนการทางความคิดซึ่งเป็นกระบวนการภายในตัวมนุษย์ บุคคลจะเรียนรู้จากสิ่งเร้าที่เป็นส่วนรวมได้ดีกว่าส่วนย่อย ดังนั้นหลักการจัดการเรียนการสอนตามทฤษฏีนี้ควรเน้นกระบวนการคิด การสอนโดยการเสนอภาพรวมก่อนการเสนอส่วนย่อย ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีประสบการณ์มากและหลากหลายซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนสามารถคิดแก้ปัญหา คิดริเริ่มและเกิดการเรียนรู้แบบหยั่งเห็นได้
เอกสารอ้างอิง
ทิศนา แขมมณี. (2551). ศาสตร์การสอน. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.