ทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเองโดยการสร้างสรรค์ชิ้นงาน (Constructionism)
เรียบเรียงโดย ครูอุไรวรรณ ศรีธิวงค์ ศส.ชม.
เรียบเรียงโดย ครูอุไรวรรณ ศรีธิวงค์ ศส.ชม.
ทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเองโดยการสร้างสรรค์ชิ้นงาน
ได้รับการพัฒนาโดย Seymour
Papert แห่งสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massacchusetts
Institute of Technology) โดยมีรากฐานมาจากทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเองของ
Piaget แนวคิดของทฤษฎีนี้
เชื่อว่าการเรียนรู้ที่ดีเกิดจากการสร้างพลังความรู้ในตนเองด้วยตนเองของผู้เรียน
หากผู้เรียนได้รับโอกาสสร้างความคิดและนำความคิดของตนเองไปสร้างสรรค์ชิ้นงานโดยอาศัยสื่อและเทคโนโลยีที่เหมาะสม
จะทำให้ผู้เรียนได้เห็นความคิดของตนเองเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน
และเมื่อผู้เรียนสร้างสิ่งใดสิ่งหนึ่งขึ้นมาในโลก
หมายถึงผู้เรียนได้มีการสร้างความรู้ขึ้น
และเป็นความรู้ที่มีความหมายต่อผู้เรียน เป็นความรู้ที่คงทน สามารถถ่ายทอดให้ผู้อื่นเข้าใจความคิดของตนได้ดี
นอกจากนั้น
ความรู้ที่สร้างขึ้นด้วยตนเองนี้เป็นฐานให้ผู้เรียนสามารถสร้างความรู้ใหม่ที่มีความซับซ้อนมากขึ้นต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
ในลักษณะวงจรเสริมแรงภายในตัวเองของผู้เรียน (บุปผชาติ ทัฬหิกรณ์, 2551; สุภณิดา ปุสุรินทร์คำ, 2551)
บุปผชาติ ทัฬหิกรณ์ (2551) กล่าวว่า
การให้ผู้เรียนได้มีโอกาสสร้างชิ้นงานนั้น
ผู้สอนจำเป็นต้องเตรียมเครื่องมือสร้างที่เหมาะสม
เพื่อผู้เรียนจะสามารถนำเครื่องมือนั้น ๆ
ไปใช้สร้างความรู้หรือชิ้นงานที่มีความหมายต่อตนเอง ถึงแม้ว่าผู้เรียนจะได้รับเครื่องมือชนิดเดียวกันแต่ชิ้นงานแตกต่างกันตามจินตนาการ
ความคิด และความสามารถในการแก้ปัญหาของแต่ละคนที่แตกต่างกันไป
เป็นการส่งเสริมการคิดสร้างสรรค์
อย่างไรก็ตาม การสร้างชิ้นงานของผู้เรียนจะนำไปสู่การสร้างความรู้ได้นั้น
ยังขึ้นอยู่กับบรรยากาศและสภาพแวดล้อมหรือบริบททางสังคม เช่น
การให้ผู้เรียนได้มีทางเลือกหลายทางเลือก
ทำให้ผู้เรียนได้มีโอกาสสร้างชิ้นงานที่ตนเองสนใจ
ส่งผลให้ผู้เรียนเต็มใจที่จะสร้างชิ้นงานให้สำเร็จแม้ต้องเผชิญกับปัญหาหรือความยากลำบากมากมาย ความหลากหลายในกลุ่มผู้เรียน
ช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้การมีปฏิสัมพันธ์ การช่วยเหลือ การแบ่งปัน
และการเรียนรู้จากกันและกัน และห้องเรียนที่มีบรรยากาศความเป็นกันเอง
ช่วยให้ผู้เรียนรู้สึกผ่อนคลาย อบอุ่น และปลอดภัย
ทั้งนี้เนื่องจากผู้เรียนสามารถสอบถามหรือปรึกษาเพื่อนและครูได้ตลอดเวลา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น