ทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเอง ของ Jean Piaget และ Lev Vygotsky
เรียบเรียงโดย ครูอุไรวรรณ ศรีธิวงค์ ศส.ชม.
เรียบเรียงโดย ครูอุไรวรรณ ศรีธิวงค์ ศส.ชม.
ทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเอง
เป็นทฤษฎีที่พัฒนาจากนักจิตวิทยาและนักการศึกษาสองท่านคือ Jean Piaget ชาวสวิสเซอร์แลนด์ และ Lev Vygotsky ชาวรัสเซีย
ทั้งสองท่านนี้เป็นนักทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มพุทธินิยม (Cognitivism)
เป็นกลุ่มที่สนใจศึกษาเกี่ยวกับกระบวนการรู้คิดซึ่งต่อมาได้พัฒนามาเป็นทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเอง
กลุ่มทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเองเชื่อว่า
การเรียนรู้เป็นกระบวนการสร้างความรู้มากกว่าการรับความรู้
ด้วยเหตุนี้เป้าหมายของการจัดการเรียนรู้จึงมุ่งสนับสนุนให้ผู้เรียนมีการสร้างองค์ความรู้มากกว่าการถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้เรียน
กล่าวคือมุ่งเน้นการสร้างความรู้ใหม่อย่างเหมาะสมของแต่ละบุคคล
และยังเชื่อว่าสิ่งแวดล้อมมีความสำคัญในการสร้างความหมายที่เป็นจริง
จากความเชื่อดังกล่าวส่งผลให้แนวทางจัดการเรียนการสอนตามทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเอง เป็นการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนลงมือกระทำในการสร้างความรู้มากกว่าเป็นผู้รับการถ่ายทอดความรู้จากผู้สอน
Piaget เน้นการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวตนของเรากับสิ่งแวดล้อมรอบตัวทั้งที่อยู่ใกล้และไกล
เพื่อให้เกิดการสร้างความรู้หรือค้นพบความรู้จากการเชื่อมโยงประสบการณ์ใหม่ที่ได้รับ
กับประสบการณ์เดิมที่มีอยู่ในโครงสร้างความรู้ความคิด
โดยเสนอว่าพัฒนาการทางเชาว์ปัญญาของบุคคลมีการปรับตัวผ่านทางกระบวนการซึมซับ
(Assimilation) และกระบวนการปรับโครงสร้างทางปัญญา (Accommodation)
พัฒนาการเกิดขึ้นเมื่อบุคคลรับและซึมซับข้อมูลหรือประสบการณ์ใหม่เข้าไปสัมพันธ์กับความรู้หรือโครงสร้างทางปัญญาที่มีอยู่เดิม
หากข้อมูลเก่าและข้อมูลใหม่ไม่สามารถสัมพันธ์กันได้ จะเกิดภาวะไม่สมดุลขึ้น (Disequilibrium)
บุคคลจะพยายามปรับสภาวะให้อยู่ในภาวะสมดุล (Equilibrium) โดยใช้กระบวนการปรับโครงสร้างทางปัญญา
และเชื่อว่าคนทุกคนจะมีการพัฒนาเชาวน์ปัญญาไปตามลำดับขั้น
จากการมีปฏิสัมพันธ์และมีประสบการณ์กับสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ
และประสบการณ์ที่เกี่ยวกับการคิดเชิงตรรกะและคณิตศาสตร์ (Logico –
mathematical experience) รวมทั้งการถ่ายทอดความรู้ทางสังคม (Social
transmission) วุฒิภาวะ (Maturity) และกระบวนการพัฒนาความสมดุล
(Equilibration) ของบุคคลนั้น
ส่วนVygotsky ให้ความสำคัญกับเครื่องมือทางปัญญาว่าเป็นสิ่งที่ช่วยในการแก้ปัญหาและเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้การกระทำการใด
ๆ ได้ นอกจากนี้วัฒนธรรมและสังคมก็เป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาความรู้ของผู้เรียน Vygotsky อธิบายว่ามนุษย์ได้รับอิทธิพลจากสิ่งแวดล้อมตั้งแต่แรกเกิด
ซึ่งนอกจากสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติแล้ว ยังมีสิ่งแวดล้อมทางสังคม
คือวัฒนธรรมที่สังคมสร้างขึ้น ดังนั้น สถาบันสังคมต่าง ๆ
เริ่มตั้งแต่สถาบันครอบครัวจะมีอิทธิพลต่อพัฒนาการทางเชาว์ปัญญาของแต่ละบุคคล
(บุปผชาติ ทัฬหิกรณ์, 255; สุภณิดา ปุสุรินทร์คำ, 2551)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น