วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2559

แนวการสอนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร

แนวการสอนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร
เรียบเรียงโดย  ครูอุไรวรรณ  ศรีธิวงค์  ศส.ชม.
1. ความหมาย
วิกิพีเดีย สารานุกรมออนไลน์ ได้ให้คำจำกัดความของการสอนภาษาเพื่อการสื่อสาร (CLT) ว่าเป็นแนวคิดในการสอนภาษาที่ให้ความสำคัญกับการปฏิสัมพันธ์ (Interaction) ว่าเป็นความหมาย และเป้าหมายสุดท้ายของการศึกษา 
กิ่งแก้ว รัชอินทร์ (2553) กล่าวถึงแนวการสอนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารว่า  เป็นแนวการสอนที่มุ่งเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ ฝึกการใช้ภาษาในสถานการณ์จริง ที่มีโอกาสพบในชีวิตประจำวันและยังให้ความสำคัญกับโครงสร้างไวยากรณ์  แนวการเรียนการสอนภาษาเพื่อการสื่อสารให้ความสำคัญกับการใช้ภาษา (Use) มากกว่าวิธีใช้ภาษา (Usage) นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญในเรื่องความคล่องแคล่วในการใช้ภาษา (Fluency) และความถูกต้องของการใช้ภาษา (Accuracy)
Bern (1984) ผู้เชี่ยวชาญในด้านการสอนภาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร ได้อธิบายว่า ภาษาคือการปฏิสัมพันธ์ ซึ่งเป็นกิจกรรมระหว่างบุคคลที่มีความสัมพันธ์ทางสังคมที่ชัดเจน ดังนั้นในการเรียนรู้ภาษาจะต้องดูที่หน้าที่ของภาษา (Function of language) ในบริบท ดูบริบททางภาษาศาสตร์ (Linguistic context) ว่าคำพูดหรือข้อความใดเกิดขึ้นก่อนหรือหลังข้อความที่กำหนดให้มา และดูบริบททางสังคมหรือบริบทของสถานการณ์ (Social or situation context) ว่าใครกำลังสื่อสารกับใคร บทบาททางสังคมของพวกเขาเป็นใคร และทำไมพวกเขาจึงต้องมาสื่อสารด้วยกัน
Wilkins (1976) กล่าวถึงแนวคิดการสอนภาษาเพื่อการสื่อสาร ว่าเป็นการจัดการเรียน การสอนที่ให้ความสำคัญกับการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารตั้งแต่เริ่มต้น แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้ละเลยในเรื่องความสำคัญทางไวยากรณ์และสถานการณ์ในการใช้ภาษา
ดังนั้นสรุปได้ว่า การสอนภาษาอังกฤษเป็นการสื่อสารหมายถึงการสอนภาษาอังกฤษที่ผู้สอนกำหนดสถานการณ์การเรียนรู้ภาษาจากสถานการณ์ที่สมจริง เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ใช้ภาษาในการสื่อสารจากการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนกับผู้เรียน ผู้เรียนกับสื่อ ผู้เรียนกับผู้สอน หรือผู้เรียนกับผู้คนนอกห้องเรียน โดยให้ความสำคัญกับหน้าที่ของภาษา บริบททางภาษาศาสตร์ และบริบททางสังคมหรือสถานการณ์ ทั้งนี้เพื่อให้การเรียนการสอนเป็นกิจกรรมการสื่อสารที่สมจริง  
2.  ความสามารถในการสื่อสาร (Communicative competence)
2.1   เป้าหมายในการสื่อสาร
Larsen-Freeman (2000:128-132) ได้กล่าวถึงเป้าหมายของการสอนภาษาเพื่อการสื่อสารว่า คือการทำให้ผู้เรียนสามารถสื่อสารในภาษาที่เรียนได้ โดยการจะทำเช่นนี้ได้จะต้องมีความรู้ในเรื่องความหมาย ความรู้ในเรื่องของโครงสร้างทางภาษา และความเข้าใจในเรื่องของหน้าที่ของภาษาที่ใช้ ซึ่งผู้เรียนจะต้องเลือกรูปแบบของภาษาให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่ใช้ในการสื่อสาร ปริบททางสังคม ตลอดจนบทบาททางสังคมของผู้ร่วมสนทนาด้วย นอกจากการสอนที่เน้นในเรื่องหน้าที่ของภาษามากกว่ารูปแบบทางภาษาแล้ว ผู้เรียนยังต้องเรียนทักษะทั้งสี่ คือพูด ฟัง อ่าน เขียน ไปพร้อมๆ กันตั้งแต่เริ่มต้น โดยสิ่งที่มีความโดดเด่นในการสอนภาษาเพื่อการสื่อสาร คือเนื้อหาของการเรียนการสอนจะอยู่ภายใต้กระบวนการทางการจัดกิจกรรมที่ให้ผู้เรียนได้มีโอกาสในการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารทั้งสิ้น 
2.2   องค์ประกอบของการเรียนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร
การที่ผู้เรียนจะสามารถสื่อสารได้นั้นต้องมีองค์ประกอบหลักๆอยู่ 3 ประการด้วยกันคือ 1) ช่องว่างระหว่างข้อมูล (Information gap) คือความต้องการแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกันโดยเมื่อคู่สนทนาไม่มีข้อมูลหรือมีข้อมูลไม่พอเพียง ทำให้ต่างฝ่ายต้องการที่จะทราบหรือให้ข้อมูลซึ่งกันและกัน 2) การเลือก (Choice) คือผู้เรียนมีโอกาสในการเลือกที่จะพูดหรือเขียน ตลอดจนเลือกรูปแบบในการสื่อสารความหมาย 3) ข้อมูลย้อนกลับ (Feedback) คือ ผู้เรียนมีโอกาสที่จะได้ทราบถึงผลของการสื่อสารที่ว่าประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวจากปฏิกิริยาของผู้ร่วมสนทนา นอกจากนี้แล้วการสอนภาษาเพื่อการสื่อสารยังเน้นการเรียนรู้ที่เกิดจากการปฏิบัติ  กล่าวคือผู้สอนต้องเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ใช้ภาษาให้มากที่สุด
การให้ผู้เรียนสนทนาแลกเปลี่ยนข้อมูลกันโดยให้เลือกใช้ภาษาตามต้องการและให้ประเมินการสื่อสารด้วยตนเองเป็นการส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ใช้ภาษาในการสื่อสารจริงๆ ส่วนเรื่องข้อผิดพลาดที่ผู้เรียนมีขณะที่มีการเรียนการสอนนั้นไม่ใช้สิ่งที่ต้องการการแก้ไขเสมอ ทั้งนี้ข้อผิดพลาดจะถูกแก้ไขเฉพาะในส่วนที่สำคัญๆ ที่จะไปขัดขวางหรือสร้างความสับสนของความเข้าใจในการสื่อสารเท่านั้น มิฉะนั้นผู้เรียนอาจเกิดความไม่มั่นใจไม่กล้าที่จะใช้ภาษาในการทำกิจกรรมต่างๆ ได้
2.3   ความสามารถในการสื่อสาร
การสร้างความสามารถในการสื่อสาร ซึ่งเป็นเป้าหมายของการสอนภาษาเพื่อการสื่อสารนี้ แบ่งได้เป็น 4 ประเภทตามแนวคิดของ Savignon (1983: 36-38) ดังต่อไปนี้
2.3.1 ความสามารถด้านกฎเกณฑ์และโครงสร้างของภาษา (Linguistic or Grammatical competence) คือ ความสามารถที่ผู้เรียนต้องมีเกี่ยวกับเรื่องการออกเสียง ศัพท์ โครงสร้างหรือรูปแบบของประโยคเพื่อนำไปใช้ในการสื่อสาร
2.3.2 ความสามารถด้านภาษาศาสตร์เชิงสังคม (Sociolinguistic competence) คือ ความสามารถที่ผู้เรียนต้องมีเกี่ยวกับการใช้ภาษาได้ถูกต้องเหมาะสมตามกฎเกณฑ์ทางสังคมและวัฒนธรรม เช่น คนรู้ว่าควรพูดอย่างไรในสถานการณ์ใด จุดประสงค์ของการสนทนา ตลอดจนคำนึงถึงบทบาททางสังคมของตนเองและผู้ร่วมสนทนา เป็นต้น
2.3.3 ความสามารถด้านความเข้าใจในระดับข้อความ (Discourse competence) คือ ความสามารถที่ผู้เรียนต้องมีเกี่ยวกับการตีความวิเคราะห์ความสัมพันธ์กันของประโยคต่างๆ โดยสามารถเชื่อมโยงความหมายและโครงสร้างทางไวยากรณ์เพื่อพูดหรือเขียนสิ่งต่างๆได้ต่อเนื่องมีความหมายสัมพันธ์กัน เช่น การมีลำดับของการเล่าเรื่อง การเขียนจดหมายที่มีข้อความเป็นเหตุเป็นผลสอดคล้องกัน
2.3.4 ความสามารถในการใช้กลวิธีในการสื่อความหมาย (Pragmatic or Strategic competence) คือ ความสามารถที่ผู้เรียนต้องมีเกี่ยวกับ การถอดความ การพูดซ้ำ การพูดอ้อม การใช้ภาษาสุภาพ ตลอดจนการใช้น้ำเสียงแบบต่างๆเพื่อให้การสื่อสารมีความราบรื่นขึ้นหากเมื่อเกิดความเข้าใจผิด หรือการไม่เข้าใจในการสื่อสาร
จากแนวคิดข้างต้นสรุปได้ว่า การสอนภาษาตามแนวทางการสอนภาษาเพื่อการสื่อสารเป็นการสอนที่เน้นการใช้ภาษาของผู้เรียนมากกว่าเน้นถึงหลักเกณฑ์การใช้ภาษา อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับความคล่องแคล่วในการใช้ภาษาและความถูกต้องไปพร้อมๆ กัน ดังนั้นการเรียนการสอนแนวดังกล่าวนี้จึงต้องเน้นการทำกิจกรรมเพื่อการฝึกฝนการใช้ภาษาให้ใกล้เคียงสถานการณ์จริงมากที่สุด เช่นมีการสร้างสถานการณ์ให้ผู้เรียนได้สนทนาโต้ตอบกันเป็นคู่ กลุ่มย่อย กลุ่มใหญ่ มีการสวมบทบาท การเล่นเกมส์ เป็นต้น และการที่ผู้เรียนสามารถใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น ผู้เรียนต้องมีทักษะความสามารถทั้ง 4 ด้าน คือด้านความสามารถในด้านกฎเกณฑ์ไวยากรณ์  ด้านความสามารถทางภาษาศาสตร์เชิงสังคม ด้านความสามารถทางความสัมพันธ์ของข้อความ และด้านความสามารถในการใช้กลวิธีในการสื่อความหมาย
3.  กิจกรรมการเรียนรู้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร
 วิกิมีเดีย สารานุกรมออนไลน์ ได้ระบุกิจกรรมการเรียนรู้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร ไว้ 8 กิจกรรมดังนี้ 
3.1     บทบาทสมมุต (Role-play) เป็นวิธีการเรียนรู้ภาษาที่ผู้สอนสร้างสถานการณ์และบทบาทสมมุติขึ้นจากความเป็นจริง มาให้ผู้เรียนได้แสดงออกตามความคิดของผู้เรียน ผู้สอนจะใช้การแสดงออกทั้งทางด้านความรู้ ความคิด และพฤติกรรมของผู้แสดงมาเป็นพื้นฐานในการให้ความรู้และสร้างความเข้าใจแก่ผู้เรียน  ทำให้ผู้เรียนเข้าใจเนื้อหาสาระของบทเรียนอย่างลึกซึ้ง และรู้จักปรับหรือเปลี่ยนพฤติกรรม และการแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม
3.2     การสัมภาษณ์ (Interviews)  หมายถึงการสนทนากันอย่างมีเป้าหมาย ระหว่างผู้สัมภาษณ์และผู้ให้สัมภาษณ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเรียนรู้  แลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่ถูกต้องเที่ยงตรง เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว   
3.3  information gap  เป็นเทคนิคการเรียนภาษาที่ผู้เรียนขาดข้อมูลที่จำเป็นในการปฏิบัติภาระงานให้เสร็จ หรือในการแก้ไขปัญหา ดังนั้นผู้เรียนจะต้องมีปฏิสัมพันธ์โดยการสื่อสารกับเพื่อนในห้องเรียน เพื่อเติมเต็มช่องว่างหรือให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่หายไปด้วยภาษาเป้าหมายที่เรียน      
3.4  เกมส์  (Games)  หมายถึงกิจกรรมที่สนุกสนาน มีกฎเกณฑ์ กติกา กิจกรรมที่เล่น มีทั้งเกมเงียบ (Passive Games) หรือเกมที่ใช้เล่นไม่ต้องเคลื่อนที่ และเกมที่ใช้ความว่องไว  (Active Games) หรือเกมที่ต้องใช้ความเคลื่อนไหว และความว่องไว การเล่นมีทั้งแบบเล่นคนเดียว  สองคน หรือเล่นเป็นกลุ่ม  
3.5  การแลกเปลี่ยนภาษา (Language exchanges)  เป็นวิธีของการเรียนรู้ภาษาที่ใช้ฝึกภาษาระดับสูง โดยให้ผู้เรียนได้ฝึกการใช้ภาษาเป้าหมายกับเพื่อนที่พูดภาษาที่แตกต่างกัน
3.6  การสำรวจ (Surveys) เป็นวิธีการเรียนรู้ภาษาที่ผู้เรียนต้องใช้ภาษาในการศึกษาตัวอย่างจากประชากรทั้งหมด แล้วทำสถิติที่ได้จากการสำรวจ ตัวอย่างได้แก่การทำโพล์ เป็นต้น การเรียนรู้แบบนี้ผู้สอนต้องเตรียมข้อมูลสำคัญให้กับผู้เรียนในการทำวิจัย เช่น ข้อมูลด้านการตลาด จิตวิทยา สุขภาพ อาชีพ หรือสังคมวิทยา เป็น
3.7  กิจกรรมคู่ (Pair-work)  เป็นเทคนิคการเรียนรู้ภาษาที่ครูกำหนดภาระงานให้ ผู้เรียนทำงานร่วมกันเป็นคู่จนงานสำเร็จ ในการเรียนภาษาถือเป็นกิจกรรมสำคัญในการฝึกทักษะการพูด 

    3.8 การเรียนรู้โดยการสอน (Learning by teaching) เป็นวิธีการเรียนรู้ภาษาที่ให้ผู้เรียนเตรียมและสอนบทเรียน หรือบางส่วนของบทเรียน โดยผู้เรียนจะเลือกเนื้อหาและวิธีการสอนในการสอนเพื่อนในห้องด้วยตัวเอง

2 ความคิดเห็น: