วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ภาษาอังกฤษเด็กไทยในการก้าวสู่ประชาคมอาเซียนอยู่ตรงไหน

Composted by Mrs. Uraiwan  Sritiwong
กฎบัตรอาเซียนข้อ 34 บัญญัติว่า “The working language of ASEAN shall be English” แปลว่า  “ภาษาที่ใช้ในการทำงานของอาเซียน คือ ภาษาอังกฤษซึ่งเข้าใจในขั้นต้นว่าภาษาอังกฤษจะเป็นภาษาสำหรับใช้ในการติดต่อสื่อสารอย่างเป็นทางการทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชน  ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการทำงานในโลกปัจจุบัน  แต่ความหมายของบทบัญญัติที่ให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาของอาเซียนสำหรับการทำงานร่วมกันนั้น  มีความหมายกว้างไกลไปถึงทุกส่วนของประชาคมอาเซียน ประชาชนใน 10 ประเทศอาเซียน จะต้องใช้ภาษาอังกฤษกันมากขึ้นนอกเหนือจากภาษาประจำชาติหรือภาษาประจำถิ่นของแต่ละชาติ เพราะไม่เพียงแต่เจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้นที่จะต้องใช้ภาษาอังกฤษในการติดต่อสื่อสารและประชุมปรึกษาหารือร่วมกัน  และไม่เฉพาะนักธุรกิจเท่านั้นที่ต้องใช้ภาษาอังกฤษในการเจรจาต่อรองเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศและการติดต่อธุรกิจระหว่างกัน แต่หากเป็นพลเมืองของอาเซียนทั้งหมด จะต้องไปมาหาสู่ เดินทางท่องเที่ยว ทำความรู้จักคุ้นเคย เรียนรู้ซึ่งกันและกัน และที่สำคัญทุกคนจะต้องเดินทางข้ามพรมแดนเพื่อหางานทำและแสวงหาโอกาสที่ดีกว่าให้กับชีวิต ดังนั้นภาษาอังกฤษจึงเป็นเครื่องมืออันดับหนึ่งสำหรับพลเมืองอาเซียน
ในการก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน สิ่งที่ประเทศไทยต้องพัฒนาอย่างเร่งด่วน คือองค์ความรู้และทักษะทางด้านภาษาอังกฤษของเด็กไทย  ดังนั้นรัฐบาลจึงกำหนดให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาต่างประเทศที่เด็กไทยทุกคนต้องเรียนในฐานะวิชาพื้นฐาน แต่อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจทักษะการใช้ภาษาอังกฤษของเด็กนักเรียนใน 44 ประเทศทั่วโลก ของสถาบันสอนภาษาอังกฤษนานาชาติ พบว่าเด็กนักเรียนไทยมีทักษะการใช้ภาษาอังกฤษอยู่ในอันดับที่ 42 เป็นรองประเทศมาเลเซียซึ่งอยู่ในอันดับที่ 9  อินโดนีเซียอยู่ในอันดับที่ 34 และเวียดนามอยู่ใน อันดับ 39 ขณะที่เด็กนักเรียนประเทศสิงคโปร์มีทักษะภาษาอังกฤษเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน  ( ครอบครัวข่าว 3ปัญหาการเรียนรู้ภาษาอังกฤษของเด็กไทย  ออกอากาศวันจันทร์ ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2556 เวลา 12.19 น.สอดคล้องกับผลการทดสอบของสถาบันสอนภาษาอังกฤษ Education First หรือ EF ซึ่งได้ศึกษาความสามารถทางภาษาอังกฤษของคนจำนวน 1.7 ล้านคนทั่วโลก จำนวน 54 ประเทศ ตั้งแต่ปี 2009-2011 โดยแบ่งระดับความสามารถออกเป็น 5 ระดับคือ ดีมาก ดี ปานกลาง ต่ำ และ ต่ำมาก จากการให้ทำข้อสอบในอินเทอร์เนต และการสอบวัดระดับ (Placement Test) สำหรับนักเรียนก่อนเข้าเรียนที่ EF ซึ่งพบว่า นักเรียนจากประเทศไทย ทำข้อสอบได้ลำดับที่ 53 อยู่ในระดับ ต่ำมาก (Very low proficiency)  
           นอกจากนี้ยังพบว่าผลการวิเคราะห์การสอบโอเน็ต ของนักเรียนชั้นป.6 ม.3 และ ม.6 ทั้งประเทศ ในปีการศึกษา 2554 พบว่า วิชาภาษาอังกฤษ มีจำนวนโรงเรียนที่ได้คะแนน O-Net ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมากที่สุด 
           ในฐานะของครูภาษาอังกฤษ ที่ต้องรับผิดชอบพัฒนาผู้เรียนของเราให้สามารถใช้ภาษาอังกฤษในการเจรจาต่อรอง เมื่อเราก้าวสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแล้ว  แต่คุณภาพเด็กไทยส่วนใหญ่ที่ได้สะท้อนออกมาข้างต้น  ยังไม่สามารถแข่งขันกับเพื่อนบ้านและประชาคมโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ  เราอาจโชคดี ที่ส่วนน้อยของเด็กไทย ที่สามารถอยู่ในแนวหน้าของโลก สามารถนำพาประเทศชาติให้ก้าวไปได้ แต่มันก็คือส่วนน้อย  ทำอย่างไรเราถึงจะช่วยกันพัฒนาเยาวชนส่วนใหญ่ให้ทัดเทียมกับเยาวชนส่วนน้อยและเยาวชนจากประเทศในกลุ่มอาเซียนและโลกได้  ช่วยกันคิดนะคะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น